สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ร่วมกับ สสส. เปิดตัวนวัตกรรม "น้องเคยมาเท่าไหร่" และ "ตามสั่ง-ตามส่ง" พร้อมให้ใช้งานแล้วทั่วประเทศ

กลุ่มวิจัยนวัตกรรมเพื่อสังคมสมานฉันท์และเศรษฐกิจถ้วนถึงแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดตัวนวัตกรรมแพลตฟอร์ม "น้องเคยมาเท่าไหร่" และ "ตามสั่ง-ตามส่ง" ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจสังคมสมานฉันท์ (Social and Sollidarty Economy) เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะทางเศรษฐกิจ (Economic Well-being) ตั้งเป้าสนับสนุนให้อาชีพกลุ่มวินมอเตอร์โชค์รับจ้าง และร้านค้าอาหารรายย่อยในชุมชน เข้าถึงระบบดิจิทัลเพื่อเพิ่มรายได้ และมีศักยภาพในการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

Wednesday 21 May 2025 15:35
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ร่วมกับ สสส. เปิดตัวนวัตกรรม "น้องเคยมาเท่าไหร่" และ "ตามสั่ง-ตามส่ง" พร้อมให้ใช้งานแล้วทั่วประเทศ

ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภภา รักษาการผู้อำนวยการสำนักวิชาการและนวัตกรรม สสส. กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นในไทย ส่งผลกระทบให้ประชาชนต้องกักตัวอยู่ในบ้านเพื่อลดความเสียงต่อการติดโรค แพลตฟอร์มออนไลน์ให้บริการส่งอาหารและการเดินทางได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้วินมอเตอร์ไซค์ที่ไม่ได้เข้าร่วมแพลตฟอร์มต้องประสบปัญหารายได้ลดลง ไม่พอเลี้ยงชีพ ผลสำรวจผู้ขับขี่รถจักรยานรับจ้างสาธารณะในกรุงเทพฯ 50 เขต จำนวน 400 คน ปี 2566 พบว่า วินฯ 89.3% ไม่ให้บริการผ่านแอปพลิเคชันเรียกรถ สาเหตุจากการใช้งานที่ไม่สะดวก ขั้นตอนการสมัครแพลตฟอร์มมีความซับซ้อน และถูกเรียกเก็บค่าใช้บริการ ทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น 46.5% ไม่มีเงินออม 11% เป็นหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ

"จากสถานการณ์ดังกล่าว สสส. เดินหน้าร่วมกับสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ พัฒนานวัตกรรมแพลตฟอร์ม "น้องเคยมาเท่าไหร่" และแพลตฟอร์ม "ตามสั่ง-ตามส่ง" ด้วยแนวคิด Economic Well-being มุ่งสนับสนุนให้วินฯ ร้านอาหาร และร้านค้าในชุมชน เข้าถึงนวัตกรรมเพื่อใช้เป็นช่องทางหนึ่งในการเพิ่มรายได้ สร้างความมั่นคงด้านอาชีพ ส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่มีเครื่องมือในการสั่งอาหารและเรียกใช้บริการวินฯ ในชุมชนที่มีมาตรฐานและราคาที่เป็นธรรม แพลตฟอร์มนำร่องใช้งานจริงแล้วใน 19 พื้นที่ทั่วประเทศ เช่น เขตชุมชนลาดพร้าว 101 เขตชุมชนสามย่าน กรุงเทพฯ, อ.บางกรวย จ.นนทบุรี, อ.เบตง จ.ยะลา ทั้งนี้ ตั้งเป้าขยายผล 10 พื้นที่ ภายในปี 2568 เพื่อพัฒนาโมเดลด้านความมั่นคงทางอาชีพ และมาตรฐานการให้บริการของวินฯ รวมทั้งระบบการจัดการขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสำหรับประชาชน" ดร.ณัฐพันธุ์ กล่าว

นายอรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิจัยจากกลุ่มวิจัยนวัตกรรมเพื่อสังคมสมานฉันท์และเศรษฐกิจถ้วนถึงแห่งเอเซีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ กล่าวว่า นวัตกรรมแพลตฟอร์ม "ตามสั่ง-ตามส่ง" และ "น้องเคยมาเท่าไหร่" พัฒนาจากการออกแบบร่วมกับผู้ใช้งานจริงคือ กลุ่มวินฯ ร้านค้า และร้านอาหารในชุมชน เน้นให้ระบบใช้งานง่าย ตรงไปตรงมา ผู้ใช้งานที่ไม่มีความเชี่ยวชาญในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลมากนักสามารถเลือกว่าจะใช้งานผ่านแอปพลิเคชัน หรือใช้งานผ่านระบบ Line Chat Bot โดยวินฯ ที่เข้าร่วมแพลตฟอร์มน้องเคยมาเท่าไหร่ ไม่ต้องเสียค่าคอมมิชชั่น อัลกอริทึมจับคู่งานตามเวลาและลำดับคิว เพื่อให้วินฯ ที่อยู่ใกล้ที่สุดและอยู่ในคิวแรกได้พิจารณารับงานก่อน

สำหรับร้านค้าและร้านอาหารที่เข้าร่วมใช้งานแพลตฟอร์มตามสั่ง-ตามส่งลดภาระต้นทุนการขาย เพราะไม่ต้องเสียค่าตอบแทนที่ผู้ขายได้รับจากการขายสินค้า (Commission) ดังที่แพลตฟอร์มทั่วไปเรียกเก็บ แต่จะใช้ระบบ ร่วมจ่าย Co-Contribution คิดตัดสินใจร่วมกันว่า ร้านอาหาร ไรเดอร์ และผู้บริโภค ซึ่งได้ประโยชน์ร่วมกัน จะแบ่งสัดส่วนจ่ายตามต้นทุนละ 5-6 บาทต่อครั้ง ซึ่งน้อยกว่าที่แพลตฟอร์มทั่วไปเรียกเก็บจากร้านอาหาร 35% ของยอดขาย โดยเมื่อมีผู้สั่งอาหาร ระบบจะส่งคำสั่งซื้อไปยังวินฯ หรือไรเดอร์ในชุมชนที่อยู่ใกล้ร้านที่สุด ต่างจากแพลตฟอร์มทั่วไปที่ส่งงานไปยังไรเดอร์ที่มีคะแนนสูงสุดซึ่งบางครั้งอยู่ไกลจากร้าน

นายเฉลิม ทองมะดัน นายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ช่วงโควิด-19 วินฯ ไม่สามารถรับ-ส่งผู้โดยสารได้ตามปกติ ประชาชนส่วนใหญ่จึงหันไปพึ่งแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อสั่งอาหารและใช้บริการเดินทาง ส่งผลให้วินฯ ที่ไม่เข้าร่วมแพลตฟอร์มมีรายได้ลดลง จากวันละ 700-800 บาท เหลือเพียงวันละ 400-500 บาท ทำให้เกิดความเครียดสะสม กระทบโดยตรงต่อสุขภาพจิต เพราะรายได้ไม่มีเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ สมาคมฯ จึงร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่ายออกแบบแพลตฟอร์ม เพื่ออำนวยความสะดวกคนในชุมชนด้านการเดินทาง ช่วยให้วินฯ นำร่องที่เข้าร่วมแพลตฟอร์มฯ ไม่ถูกเอาเปรียบจากการแย่งลูกค้า มีรายได้เพิ่มขึ้น เกิดมาตรฐานการให้บริการ และมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ ขอเชิญชวนวินฯ ร้านค้า และประชาชนร่วมใช้บริการทั้ง 2 แพลตฟอร์ม เพื่อสร้างโอกาสให้วินฯ ที่กระจายตัวอยู่ตามชุมชนได้รับ-ส่งผู้โดยสาร และประชาชนได้ใช้วินฯ ที่มีมาตรฐาน และขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย

วินฯ หรือไรเดอร์ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดใช้งานแพลฟอร์มได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ที่ Google Play สำหรับระบบ Android และ App Store สำหรับระบบ iOS

ส่วนผู้ที่ใช้บริการสามารถสแกน QR code ที่โปสเตอร์ หรือแอดไลน์ @winapp สำหรับแพลตฟอร์ม "น้องเคยมาเท่าไหร่" และ @tamsang-tamsong สำหรับแพลตฟอร์ม "ตามสั่ง-ตามส่ง"