นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 25-31 พ.ค. 68 พบผู้ป่วยโควิด 19 รายใหม่ 11,697 คน ซึ่งถือว่าเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และมีผู้ป่วยสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 68 จำนวน 86,624 คน โดย สนอ. ได้ติดตามสถานการณ์ เฝ้าระวัง ควบคุมป้องกันโรคโควิด 19 และรายงานสถานการณ์ของโรคอย่างต่อเนื่อง เตรียมพร้อมสถานพยาบาลในสังกัด ทั้งบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เตรียมชุดตรวจ Rapid Test หน้ากากอนามัย alcohol Gel เตียงรักษาพยาบาล ยา และเวชภัณฑ์ที่จำเป็น ระบบการส่งต่อผู้ป่วย ฯลฯ เพื่อรองรับการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคโควิด 19 โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ และกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและมีปัญหาสุขภาพได้ง่าย โดยเน้นเฝ้าระวังที่โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน สถานสงเคราะห์คนชรา และสถานพยาบาลที่อยู่ในความดูแลของ กทม. พร้อมทั้งเพิ่มความเข้มข้นมาตรการเฝ้าระวังในกลุ่มผู้สูงอายุ เช่น ชมรมผู้สูงอายุของศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. 69 แห่ง ชมรมผู้สูงอายุในชุมชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวมีโอกาสเกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตสูงกว่ากลุ่มอื่น หากติดเชื้อโควิด 19
ทั้งนี้ มาตรการอนามัยส่วนบุคคลยังเป็นปัจจัยหลักในการป้องกันโรคโควิด 19 ได้แก่ การล้างมือบ่อย ๆ และการสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะเมื่อมีอาการป่วยโรคทางเดินหายใจ หรืออยู่ใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง 608 และเด็กเล็ก อยู่ในพื้นที่ หรือกิจกรรมเสี่ยง เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อและรับเชื้อโควิด 19 และป้องกันการติดเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ การเว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด หรือสถานที่ที่อากาศถ่ายเทไม่ดี หมั่นล้างมือให้สะอาดลดความเสี่ยงติดเชื้อโควิด 19 ทุกสายพันธุ์ รวมถึงเน้นย้ำให้สมาชิกในครอบครัวปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อในกลุ่ม 608 เพื่อความปลอดภัยจากโรคโควิด 19 สำหรับกลุ่ม 608 ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุมีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัวในกลุ่ม 7 โรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน รวมถึงกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากกลุ่มนี้เป็นผู้ที่มีอาการรุนแรงของโรคมาก หากติดเชื้อโควิด 19