ในช่วงเสวนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SAPPE ได้ถ่ายทอดเส้นทางที่น่าประทับใจของเซ็ปเป้ จากจุดเริ่มต้นที่เรียบง่ายในฐานะธุรกิจอาหารขนาดเล็กของครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีนรุ่นที่สอง สู่การเป็นบริษัทเครื่องดื่มนวัตกรรมที่ส่งออกไปยังกว่า 100 ประเทศทั่วโลก เธอเติบโตมาในครอบครัวที่มีพี่น้องชายสามคน และเป็นลูกสาวเพียงคนเดียว ก่อนจะเริ่มต้นอาชีพในสายการเงินกับสถาบันระดับโลก เช่น Deutsche Bank, Barclays Capital และ BNP Paribas กระทั่งช่วงเวลาที่ SAPPE กำลังเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งถือเป็นหมุดหมายสำคัญของบริษัท ครอบครัวจึงเรียกตัวเธอกลับมาเพื่อใช้ความเชี่ยวชาญทางการเงินร่วมวางรากฐานองค์กรในฐานะ CFO ก่อนจะได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่ง CEO ภายหลังจากที่พี่ชายคนโตของเธอตัดสินใจลงจากตำแหน่ง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ปิยจิตได้ขับเคลื่อน SAPPE อย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นหนึ่งในแบรนด์ไทยที่แข็งแกร่งในระดับนานาชาติ
เธอได้กล่าวอย่างชัดเจนบนเวทีว่า SAPPE ยึดมั่นในบทบาทขององค์กรที่ "กล้ายืนหยัดเพื่อคุณค่าที่เชื่อ" ไม่ใช่แค่ในเชิงกลยุทธ์ทางการตลาด แต่เป็นการส่งเสียงอย่างมีจุดยืนในประเด็นที่มีความสำคัญต่อสังคมและวัฒนธรรม โดยมีคุณค่าหลักขององค์กรที่ถูกหล่อหลอมไว้ใน DNA ได้แก่ ความเป็นนักนวัตกรรม การส่งเสริมบทบาทผู้หญิง และความหลากหลายเท่าเทียม SAPPE เป็นผู้บุกเบิกเครื่องดื่มหมวดหมู่ใหม่ของโลกที่เรียกว่า "Snack Drink" หรือเครื่องดื่มที่เคี้ยวได้ โดยแบรนด์ Mogu Mogu น้ำผลไม้ผสมวุ้นมะพร้าว (Nata de Coco) ได้สร้างปรากฏการณ์ในตลาดโลกและเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไปโดยสิ้นเชิง นอกจากนี้ บริษัทยังพัฒนาผลิตภัณฑ์ "Sappe Beauti Drink" ซึ่งเป็นเครื่องดื่มฟังก์ชันที่สะท้อนจุดยืนของบริษัทในการส่งเสริมให้ผู้หญิงดูแลตนเอง รักและภาคภูมิใจในความงามจากภายใน โดยเมื่อปีที่แล้วได้เปิดตัวแคมเปญ "สวยเรา ไม่ต้องสวยใคร" หรือ Self-Love ภายใต้แนวคิดว่า "ผู้หญิงไม่ควรรอให้ใครมายืนยันคุณค่า แต่ควรเป็นคนที่เชื่อมั่นในความงามของตนเอง และสามารถเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้"
SAPPE ยังยึดมั่นในเรื่องความเท่าเทียม ความหลากหลาย และการเปิดกว้าง โดยมีพนักงานหญิงคิดเป็น 53% ของพนักงานทั้งหมด และในระดับผู้บริหารระดับสูงมีสัดส่วนถึง 60% ซึ่งสะท้อนวัฒนธรรมองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยคุณค่าที่แท้จริง ในด้านการบริหารองค์กร ปิยจิตกล่าวถึงความสำคัญของโครงสร้างที่ไม่เป็นลำดับชั้น (Flat Organization) ซึ่งเอื้อต่อการมีส่วนร่วมและการแลกเปลี่ยนข้อมูลในทุกระดับ โดยมีการสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสียผ่านหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการประชุมกับผู้ถือหุ้นรายไตรมาส การสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคผ่านช่องทางออนไลน์และ Social Listening ตลอดจนการเปิดพื้นที่ให้ทีมงานทุกระดับสามารถเข้าถึงผู้บริหารได้โดยตรง
"ฉันเปิดประตูไว้เสมอให้ทีมงานเข้ามาพูดคุย ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม และสนับสนุนให้ทุกคนกล้าแสดงความคิดเห็นภายใต้ความเคารพซึ่งกันและกัน เพราะนั่นคือสิ่งที่จะทำให้องค์กรเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน" ปิยจิตกล่าว
ในฐานะผู้นำองค์กรระดับโลก SAPPE ให้ความสำคัญกับการเคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรม ไม่ยึดหลัก "One Size Fits All" ในการบริหารจัดการในแต่ละประเทศ พร้อมเน้นย้ำว่า ซีอีโอต้อง "Walk The Talk" หรือเป็นผู้ลงมือทำจริงในทุกเรื่องที่องค์กรยึดถือ ไม่ว่าจะเป็นความโปร่งใส ความซื่อสัตย์ หรือความรับผิดชอบ ทั้งต่อพนักงาน ผู้บริโภค และสังคมโดยรวม
สำหรับการสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์กับคนรุ่นใหม่ ปิยจิตได้ยกตัวอย่างว่า ปัจจุบัน SAPPE มีพนักงาน Gen Z ถึง 20% ขององค์กร และคนกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับ "Purpose" หรือเป้าหมายในการทำงานอย่างมาก "พวกเขาอยากรู้ว่าทำอะไร ทำไปเพื่ออะไร และทำแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ดังนั้นเราจึงให้ความสำคัญกับการสื่อสารพันธกิจ ค่านิยม และเป้าหมายขององค์กรให้ชัดเจน พร้อมทั้งส่งเสริมสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าขององค์กร และออกแบบระบบประเมินผลงานที่ชัดเจนและเป็นธรรม เพื่อให้พวกเขารู้สึกว่าตนมีคุณค่าในองค์กรอย่างแท้จริง" เธอกล่าว พร้อมเน้นว่าแนวคิดนี้เองที่ทำให้ SAPPE สามารถขับเคลื่อนด้วยไอเดียใหม่ ๆ และเชื่อมโยงกับความเปลี่ยนแปลงในยุคสมัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การเข้าร่วม Global Summit of Women ครั้งนี้จึงไม่ใช่เพียงเวทีแลกเปลี่ยนความคิดระดับโลก แต่ยังเป็นโอกาสสำคัญที่ผู้หญิงไทยคนหนึ่งได้แสดงให้โลกเห็นว่า "องค์กรไทย" ก็สามารถเติบโตได้บนเวทีโลก ด้วยความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย วิสัยทัศน์ที่ชัดเจน และความกล้าที่จะยืนหยัดในคุณค่าที่ตนเชื่อ ความสำเร็จของ SAPPE ในครั้งนี้ยังสะท้อนพลังของ "ความยั่งยืนเชิงวัฒนธรรม" ที่ไม่ได้วัดกันแค่ตัวเลขหรือมาตรฐาน แต่คือพลังของผู้คนในองค์กรที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงโลกอย่างรับผิดชอบ
สำหรับงาน Global Summit of Women เป็นเวทีประชุมระดับนานาชาติที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง และจัดต่อเนื่องมาแล้วถึงปีที่ 35 โดยในปีนี้มีผู้เข้าร่วมกว่าพันคนจากกว่า 60 ประเทศทั่วโลก ครอบคลุมทั้งภาครัฐ องค์กรระหว่างประเทศ และภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้นำระดับสูง อาทิ รัฐมนตรี ผู้อำนวยการอาวุโส และซีอีโอจากบริษัทชั้นนำระดับโลก เช่น IBM, EY, UNCTAD, Huawei, Adecco, Bayer, Mercedes-AMG, National Bank of Australia และ Commerzbank งานประชุมประกอบด้วยเนื้อหาหลากหลาย ทั้งในเวที Plenary ที่มุ่งเน้น Megatrends และนโยบายระดับโลก การพัฒนาอาชีพของผู้หญิงในยุคดิจิทัล ตลอดจนการประชุมระหว่างรัฐและเอกชนที่เปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติจริง (Skills-building) จากหลายประเทศทั่วโลก เวทีนี้ไม่เพียงเป็นแหล่งสร้างแรงบันดาลใจ แต่ยังส่งผลเชิงนโยบายและความร่วมมือข้ามพรมแดนอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในด้านการลดช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศ การขยายโควต้าผู้หญิงในตำแหน่งบริหาร และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งมีผลต่อการเติบโตของ GDP อย่างเป็นรูปธรรมในระยะยาว