ในการนี้ ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวง อว. พร้อมคณะผู้บริหาร หัวหน้าหน่วยงานในสังกัดและบุคลากร อว. ผศ.ดร.วีรชัย อาจหาญ ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) นางสาวกาญจนา ทุมมานนท์ ผอ.สำนักผู้ว่าการ ดร.ปริยะดา วิสุทธิแพทย์ ผอ.สำนักสื่อสารองค์กร และบุคลากร วว. เข้าร่วมเป็นเกียรติและแสดงความยินดีด้วย ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 ณ กระทรวง อว. โยธี กรุงเทพฯ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่า การเข้าทำงานในฐานะ รมว.อว. มีความตั้งใจที่จะทำให้งานอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นกลไกสำคัญในการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผ่านการใช่องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อทำให้ประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลาง และเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศไปสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่และมีมูลค่าสูง ซึ่งต้องอาศัยกำลังคนทักษะสูง การวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ การสร้างผู้ประกอบการหรือ Tech Startup ให้กับประเทศ ซึ่ง กระทรวง อว. มีบทบาทสำคัญมากในเรื่องนี้
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล กล่าวถึงนโยบายการทำงานของกระทรวง อว. ว่า แบ่งเป็น 2 ด้าน ด้านแรก คือ การพัฒนากำลังคน เน้นเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำทางการเข้าถึงอุดมศึกษาของคนในประเทศ พร้อมกับเรื่องการพัฒนากำลังคนของประเทศ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในปัจจุบันและอนาคต ด้านที่สอง การพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ซึ่งกระทรวง อว. มีกองทุนส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรม ที่ได้รับงบประมาณ 19,828 ล้านบาท ต้องการเห็นการดำเนินการวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่ก่อให้เกิดผลกระทบ (Impact) จริงต่อทั้งภาคเศรษฐกิจและสังคม ผ่านนโยบาย ดังนี้ 1) เน้นประสิทธิภาพในการบริหารกองทุน การจัดสรรทุน การจัดสรรงบประมาณไปยังหน่วยให้ทุน หรือ PMU และจาก PMU ไปยังมหาวิทยาลัยและนักวิจัย ครอบคลุมในทุกมิติทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ธุรกิจชุมชน SMEs อุตสาหกรรมสมัยใหม่ รวมถึงการทำวิจัยที่ส่งเสริมการสร้างองค์ความรู้สมัยใหม่ การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง
2) นำ ววน. ไปช่วยสนับสนุนภาคเกษตร ให้สามารถแข่งขันได้ โดยต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีองค์ความรู้ด้าน ววน. ไปช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน ยกระดับคุณภาพผลผลิตด้วยเทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัย สามารถควบคุมปัจจัยการผลิต ได้อย่างแม่นยำ เช่น การทำเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) โดยเฉพาะในพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศ ได้แก่ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา เป็นต้น 3) นำ ววน. ไปช่วยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เช่น PM 2.5 น้ำท่วม ภัยแล้ง เป็นต้น เพื่อพัฒนาและเร่งแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และภัยพิบัติ ในหลาย ๆ ด้าน และ 4) ส่งเสริมการวิจัยในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ส่งเสริมการสร้างอุตสาหกรรมสมัยใหม่ของประเทศ ทั้งจากการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และการสร้าง Deep tech startup ในประเทศ เช่น ด้านยานยนต์สมัยใหม่อาหารแห่งอนาคต เศรษฐกิจอวกาศ (Space economy) AI เซมิคอนดักเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูง
" ...ที่สำคัญดิฉันและทั้งองคาพยพของกระทรวง อว.จะร่วมกันสร้าง "1 มหาวิทยาลัย 1 ภารกิจ เพื่อท้องถิ่น" เป็นการดึงศักยภาพทั้งกำลังคนและวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ของกระทรวง อว. มาสร้างการพัฒนาในระดับพื้นที่ ปัจจุบันเรามี "อว. ส่วนหน้า" ประจำจังหวัดต่าง ๆ ที่ช่วยแก้ปัญหาในพื้นที่อยู่แล้ว และหลังจากนี้แต่ละหน่วยงาน ทั้งสถาบันอุดมศึกษา สถาบันวิจัย จะเข้าไปดูว่าในแต่ละพื้นที่ที่ดูแลหรือเข้าไปเกี่ยวข้องนั้น มีปัญหาอะไรที่ควรจะเข้าไปดูแลจัดการ โดยใช้การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เข้าไปช่วยในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เช่น ปัญหาผลผลิตเกษตรตกต่ำ ปัญหาสภาพดิน ปัญหาโรคพืช ปัญหาแปรรูปสินค้า ปัญหา PM 2.5 ปัญหาน้ำท่วม -น้ำแล้ง คุณภาพน้ำ ปัญหาขยะ เป็นต้น..." รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวสรุป