ฟิทช์คงอันดับเครดิต กฟผ. ที่ 'BBB+' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

ศุกร์ ๒๐ มกราคม ๒๐๒๓ ๑๖:๑๓
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (International Long-Tern Foreign-Currency Issuer Default Rating) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ที่ระดับ 'BBB+' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ นอกจากนี้ ฟิทช์ได้ประกาศคงอันดับเครดิตหนี้ที่ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของกฟผ. ที่ระดับ 'BBB+'

อันดับเครดิตของ กฟผ. สะท้อนถึงสถานะเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ของกฟผ. ที่ระดับ 'bbb+' ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตของประเทศไทย ('BBB+' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ฟิทช์จะคงอันดับเครดิตของกฟผ. เท่ากับอันดับเครดิตของประเทศไทย ในกรณีที่สถานะเครดิตโดยลำพังของ กฟผ. ถูกปรับลดลง โดยที่ความสัมพันธ์ระหว่างกันยังคงเหมือนเดิม ภายใต้หลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตองค์กรที่มีความสัมพันธ์กับภาครัฐฯ (Government-Related Entities Rating Criteria) ของฟิทช์

สถานะเครดิตโดยลำพังของ กฟผ. สะท้อนถึงความเป็นผู้นำในธุรกิจไฟฟ้าในประเทศไทย โครงสร้างการกำกับดูแลธุรกิจไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพและสนับสนุนการดำเนินงานของกฟผ. ที่มีมาอย่างยาวนาน รวมถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของกฟผ. คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลค่าไฟฟ้าจะทำการพิจารณาปรับค่าไฟฟ้าเพื่อสะท้อนถึงค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถควบคุมได้ กกพ. ได้มีการส่งผ่านค่าใช้จ่ายดังกล่าวไฟยังค่าไฟฟ้าในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าจะมีความล่าช้าบ้างในบางช่วงเวลา ฟิทช์เชื่อว่าสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งจะช่วยให้ กฟผ. สามารถรองรับการปรับค่าไฟฟ้าที่อาจล่าช้าที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

ความสัมพันธ์กับภาครัฐฯ ในระดับสูง: ฟิทช์มองว่าสถานะความเป็นเจ้าของและการควบคุมของภาครัฐฯ ต่อกฟผ. อยู่ในระดับสูงมาก โดยรัฐบาลถือหุ้นทั้งหมดในกฟผ. เป็นผู้คัดเลือกและแต่งตั้งคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูง และอนุมัติการลงทุนของกฟผ. ฟิทช์มองว่าการสนับสนุนจากภาครัฐฯ ต่อกฟผ. อยู่ในระดับสูง แม้ว่าที่ผ่านมาไม่ได้มีการให้การสนับสนุนทางการเงิน เนื่องจากกฟผ. มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ฟิทช์คาดว่าภาครัฐฯ น่าจะให้การสนับสนุนทางการเงินแก่กฟผ. ในกรณีที่กฟผ. มีความต้องการ เนื่องจากกฟผ. มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์และเป็นตัวจักรสำคัญในธุรกิจไฟฟ้าในประเทศไทย

ผลกระทบจากการผิดนัดชำระหนี้อยู่ในระดับสูงมาก: ฟิทช์มองว่าผลกระทบต่อสังคมและการเมืองในกรณีที่กฟผ. ผิดนัดชำระหนี้อยู่ในระดับสูงมาก เนื่องจาก กฟผ. ไม่เพียงแต่เป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศ โดยมีส่วนแบ่งร้อยละ 35 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศ แต่ยังเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายอื่น ซึ่งหากมีการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้น จะส่งผลกระทบต่อ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าซึ่งเป็นสาธารณูปโภคที่จำเป็นของประเทศ

กฟน. และ กฟภ. เป็นรัฐวิสาหกิจที่รับผิดชอบการจำหน่ายไฟฟ้าในประเทศไทย โดย กฟน. จำหน่ายไฟฟ้าให้กับประชาชนในพื้นที่สามจังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ ในส่วนพื้นที่เหลืออยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ กฟภ. ฟิทช์มองว่า รัฐวิสาหกิจทั้งสามมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดมาก โดยตามระเบียบข้อบังคับจะแบ่งผลตอบแทนที่เหมาะสมให้แต่ละรัฐวิสาหกิจ และมีกลไกให้รัฐวิสาหกิจที่ได้รับผลตอบแทนที่ไม่เพียงพอได้รับการชดเชยจากรัฐวิสาหกิจที่ได้รับผลตอบแทนมากกว่า นอกจากนี้ ฟิทช์คาดว่าการผิดนัดชำระหนี้จะส่งผลกระทบทางการเงินต่อภาครัฐฯ อย่างมาก เนื่องจากฟิทช์มองว่า กฟผ. เป็นหนึ่งในตัวแทนภาครัฐฯ ในการกู้ยืมเงิน

ฐานะทางธุรกิจที่มั่นคง คู่ค้าที่แข็งแกร่ง: กฟผ. เป็นเจ้าของและเป็นผู้ดูแลเครือข่ายสายส่งไฟฟ้าแรงสูงในประเทศไทย และเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศโดยมีส่วนแบ่งร้อยละ 35 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศ กฟผ. จำหน่ายไฟฟ้าที่รับซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนและผลิตเองให้กับ กฟน. กฟภ. และลูกค้าโดยตรงบ้างเล็กน้อย

การฟื้นตัวของการใช้ไฟฟ้า: ฟิทช์คาดว่าปริมาณการขายไฟฟ้าในประเทศไทยจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 ในปี 2565 (ปี 2564 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8) เนื่องจากการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว หลังจากมีการเปิดประเทศในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 ฟิทช์คาดว่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าในปี 2565 จะอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า ตามฟิทช์คาดว่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าจะเติบโตร้อยละ 2.5 ต่อปี ในปี 2566 และ 2567

แรงกดดันต่อกระแสเงินสดจากราคาเชื้อเพลิง: ฟิทช์คาดว่าราคาเชื้อเพลิงที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในปี 2565 จะกดดันกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ กฟผ. ซึ่งคาดว่าจะจะติดลบเนื่องจากการปรับค่าไฟฟ้าที่ล่าช้า กฟผ. ได้รับผลกระทบจากราคาเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นในปี 2565 เนื่องจากราคาน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ราคาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งผลิตภายในประเทศ และจากการนำเข้า อ้างอิงจากราคาน้ำมัน โดยราคาก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยในปี 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 251 บาท ต่อล้านบีทียู หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 68.2 จากปี 2564

การปรับค่าไฟฟ้าที่ล่าช้า: ฟิทช์คาดว่ารายได้ค้างรับของ กฟผ. จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.7 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 (สิ้นปี 2564 อยู่ที่ 3.9 หมื่นล้านบาท) เนื่องจากการปรับค่าไฟฟ้ายังไม่สะท้อนต้นทุนเพิ่มขึ้นที่เกิดขึ้นทั้งหมด ได้มีการปรับค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 1.09 บาทต่อหน่วย ในปี 2565 แต่การปรับดังกล่าวส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงสี่เดือนสุดท้ายของปี โดยค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในปี 2565 สูงกว่าปี 2564 เพียงร้อยละ 21 อย่างไรก็ตาม กกพ. ได้ประกาศปรับค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 0.61 บาท ต่อหน่วย ในปี 2566 ฟิทช์คาดว่า กฟผ. จะได้รับการชดเชย รายได้ค้างรับที่เกิดขึ้นในอดีตทั้งหมด ในช่วง 3 ปีข้างหน้า เนื่องจาก กกพ. น่าจะรักษาระดับค่าไฟฟ้า เพื่อชดเชยกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในปีก่อนหน้านี้ ถึงแม้ว่าราคาเชื้อเพลิงตามประมาณการของฟิทช์จะปรับตัวลดลง

ฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง: ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของ กฟผ. จะปรับตัวเพิ่มขึ้นในปี 2565 มาอยู่ที่ระดับ 1.8 เท่า (ปี 2564 อยู่ที่ 1.1 เท่า) จากหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากรายได้ค้างรับ ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินน่าจะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 1 เท่า ในช่วงปี 2566 - 2567 จากสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ฟิทช์คาดว่า กฟผ. จะมีค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนประมาณ 5.4 หมื่นล้านบาท ในปี 2565, 4.7 หมื่นล้านบาท ในปี 2566 และเพิ่มขึ้นป็นประมาณปีละ 9-12 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าและเครือข่ายสายส่ง

โครงสร้างการกำกับดูแลธุรกิจไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพ: กกพ. จะมีการพิจารณาปรับค่าไฟฟ้าทุกๆ 4 เดือน จากต้นทุนที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่นราคาเชื้อเพลิง และการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน โดยค่าไฟฟ้าฐานจะมีการปรับทุก 3-5 ปี เพื่อสะท้อนต้นทุนการผลิตไฟฟ้า และรักษาสถานะทางการเงินและผลตอบแทนของการไฟฟ้าทั้งสาม และลดการชดเชยระหว่างกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้า โดยมีการปรับค่าไฟฟ้าตามสูตรที่อัตโนมัติและคล่องตัว

ฟิทช์คาดว่า กกพ. จะพยายามรักษาเสถียรภาพของค่าไฟฟ้า ซึ่งอาจส่งผลให้ค่าเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้นไม่ได้รับการส่งผ่านไปยังค่าไฟฟ้าเต็มที่ ซึ่งเห็นได้จากปี 2565 อย่างไรก็ตามการไฟฟ้าจะได้รับการชดเชยในเวลาต่อมาเมื่อราคาเชื้อเพลิงเริ่มปรับตัวลดลง

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

PT Perusahaan Listrik Negara (Persero) (PLN, อันดับเครดิต 'BBB' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) และ Korea Electric Power Corporation (KEPCO, อันดับเครดิต 'AA-' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) มีธุรกิจที่มีลักษณะใกล้เคียงกับกฟผ. เนื่องจากเป็นผู้ประกอบการเพียงรายเดียวในธุรกิจสายส่งและจำหน่ายไฟฟ้า และเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ในประเทศของตัวเอง อันดับเครดิตของ PLN และ KEPCO อยู่ในระดับเดียวกับอันดับเครดิตของประเทศตัวเอง - ประเทศอินโดนีเซีย (อันดับเครดิต 'BBB' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) และประเทศเกาหลี (อันดับเครดิต 'AA-' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ภายใต้หลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตองค์กรที่มีความสัมพันธ์กับภาครัฐฯ ของฟิทช์

ฟิทช์มองว่าความสัมพันธ์กับภาครัฐฯ และผลกระทบทางการเงินและผลกระทบต่อสังคมและการเมืองในกรณีที่ผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งเป็นปัจจัยในการสนับสนุนแรงจูงใจในการสนันสนุนของ PLN อยู่ในระดับสูงมาก ฟิทช์ประเมินแรงจูงใจในการสนันสนุน ของ KEPCO อยู่ในระดับสูงมากเช่นกัน แต่สถานะความเป็นเจ้าของและการควบคุมของภาครัฐฯ และการสนับสนุนจากภาครัฐฯ ต่อ KEPCO อยู่ในระดับสูง ในขณะที่ ฟิทช์มองว่าสถานะความเป็นเจ้าของและการควบคุมของภาครัฐฯ และผลกระทบจากการผิดนัดชำระหนี้ของกฟผ. อยู่ในระดับสูงมาก และการสนับสนุนจากภาครัฐฯ อยู่ในระดับสูง

ฟิทช์มองว่าการสนับสนุนจากภาครัฐฯ ของ PLN อยู่ในระดับสูงมาก เนื่องจากบริษัทดำเนินการภายใต้โครงสร้างอุตสาหรรมที่แสดงให้เห็นว่าบริษัทสามารถส่งผ่านต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงไปยังค่าไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง โดยหากมีภาระค่าไฟที่ PLN ต้องแบกรับจากการที่บริษัทไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นผ่านค่าไฟฟ้าได้ บริษัทจะได้รับการชดเชยจากภาครัฐฯ โดยหาก PLN ไม่ได้รับการชดเชยดังกล่าว บริษัทจะมีผลการดำเนินงานขาดทุน

ฟิทช์มองว่าสถานะความเป็นเจ้าของและการควบคุมของภาครัฐฯ ของ KEPCO อยู่ในระดับสูง เนื่องจากรัฐบาลถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมเพียงร้อยละ 51 รัฐบาลเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฯ แต่การกำกับดูแลการดำเนินงานค่อนข้างอยู่ในระดับปกติทั่วไป ฟิทช์มองว่าการสนับสนุนจากภาครัฐฯ ของ KEPCO อยู่ในระดับสูง เช่นเดียวกันกับของกฟผ. โดยที่ผ่านมา มี KEPCO ได้รับการสนับสนุนทางการเงินที่จำกัด เนื่องจาก KEPCO มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง แต่ฟิทช์คาดว่าภาครัฐฯ น่าจะให้การสนับสนุนทางการเงินในกรณีที่ KEPCO มีความต้องการ

สมมุติฐานที่สำคัญ

สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

  • ปริมาณการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 ในปี 2565, ร้อยละ 2.5 ในปีถัดไป
  • ราคาเชื้อเพลิงตามประมาณการของฟิทช์
  • ค่าไฟ มีการปรับเพิ่มขึ้นในปี 2566 และ 2567 เพื่อให้ กฟผ. ได้รับการชดเชยรายได้ค้างรับ
  • อัตราดอกเบี้ยจากการกู้ยืมอยู่ที่ร้อยละ 3.6
  • ระยะเวลาลูกหนี้การค้า (รวมรายได้ค้างรับจากการขายไฟฟ้า)เพิ่มเป็นประมาณ 110 วันในปี 2566 ก่อนจะลดลงมาอยู่ในระดับปกติที่ 35 วันในปี 2568
  • เงินปันผลรับสุทธิปีละ 4 พันล้านบาท
  • ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน 5.4 หมื่นล้านบาทในปี 2565, 4.7 หมื่นล้านบาทในปี 2566 และ 9-12 หมื่นล้านบาทหลังจากปี 2566
  • จ่ายเงินปันผลร้อยละ 50-70 ของกำไรสุทธิของปีก่อนหน้า

ปัจจัยที่อาจมีผลกระทบต่ออันดับเครดิต

ปัจจัยบวก

  • การปรับเพิ่มอันดับเครดิตประเทศไทย หากความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทฯ กับประเทศไม่เปลี่ยนแปลง

ปัจจัยลบ

  • การปรับลดอันดับเครดิตประเทศไทย

ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคตของประเทศไทย ตามรายงานลงวันที่ 18 มิถุนายน 2564

ปัจจัยบวก:

  • ด้านเศรษฐกิจมหภาค: การฟื้นตัวและความต่อเนื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะปานกลาง โดยไม่ทำให้หนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างมาก
  • ด้านหนี้สาธารณะ: แนวโน้มอัตราส่วนหนี้สินของรัฐบาล (General government debt to GDP) ที่ปรับลดลง จากการขาดดุลงบประมาณที่ลดลง และหรือ แนวโน้มเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นในระยะปานกลาง

ปัจจัยลบ:

  • ด้านหนี้สาธารณะ: ไม่สามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินของรัฐบาลให้อยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ เช่น เนื่องจากฐานะทางการคลังที่แย่ลงอย่างต่อเนื่อง หรือการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
  • ด้านโครงสร้าง: ความไม่มั่นคงทางการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่ในระดับที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศในทางลบ

สภาพคล่อง
สภาพคล่องที่แข็งแกร่ง: กฟผ. มีเงินสดอยู่ประมาณ 7.3 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน ปี 2565 ซึ่งมากกว่าหนี้ที่จะครบกำหนดชำระภายใน 12 เดือนข้างหน้า จำนวนประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ กฟผ. ยังมีหนี้ที่ครบกำหนดชำระที่กระจายตัวดี โดยมีหนี้ที่ครบกำหนดชำระปีละน้อยกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท กฟผ. มีการกู้ยืมเงินเพิ่มเติมจำนวน 1.1 แสนล้านบาทเพื่อรองรับรายได้ค้างรับจากการขายไฟฟ้า ซึ่งรัฐบาลได้มีการค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าว

ฟิทช์คาดว่า กฟผ.จะมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานปีละ 1.3-2 แสนล้านบาทในปี 2566 เนื่องจากคาดว่า กฟผ. จะได้รับเงินชดเชยรายได้ค้างรับ ฟิทช์มองว่า กฟผ. มีความสามารถในการกู้ยืมในระดับสูงเนื่องจากมีความสัมพันธ์กับภาครัฐฯ

ข้อมูลบริษัทโดยย่อ
กฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลถือหุ้นทั้งหมด กฟผ. ดำเนินธุรกิจไฟฟ้าครบวงจรในประเทศไทย โดยเป็นเจ้าของและเป็นผู้ดูแลเครือข่ายสายส่งไฟฟ้าแรงสูงรายเดียวในประเทศไทย และเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศโดยมีส่วนแบ่งร้อยละ 34.5 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศ ที่มีกำลังการผลิตทั้งหมดที่ 47 กิกะวัตต์ กฟผ. เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนและประเทศเพื่อนบ้าน

ที่มา: ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง