นางกอบบุญ ศรีชัย ผู้บริหารสูงสุดสายงานกิจการองค์กรและลงทุนสัมพันธ์ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟดำเนินธุรกิจโดยมีเป้าหมายสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน และตระหนักอยู่เสมอว่าทรัพยากรธรรมชาติเป็นต้นทางที่สำคัญของการผลิตอาหาร บริษัทฯมุ่งมั่นสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานดูแลสิ่งแวดล้อม ด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในสถานประกอบการภายใต้ "โครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศ" ภายในสถานประกอบการ ขณะเดียวกัน ยังมีการให้ความรู้ผ่านการอบรมหลักสูตรการวัดและประเมินผลการกักเก็บคาร์บอนฯ แก่พนักงานของฟาร์มและโรงงาน พร้อมลงพื้นที่เก็บข้อมูลต้นไม้ในสถานประกอบการทุกแห่ง โดยจัดทำข้อมูลอย่างละเอียดนำไปสู่การขอการรับรองจาก อบก.
"จากการดำเนินโครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ภายในสถานประกอบการ ด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ ปี 2565 ซีพีเอฟได้รับใบประกาศเกียรติคุณจาก อบก. ภายใต้โครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก หรือ LESS ประเภทโครงการด้านป่าไม้และการเกษตร มีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดูดซับได้มากกว่า 4,900 ตันคาร์บอนไดออกไซด์" นางกอบบุญ กล่าว
แนวทางการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ถือเป็นนโยบายสำคัญของเครือซีพีและซีพีเอฟ โดยมีจุดเริ่มต้นที่พนักงานในองค์กรลงมือทำ และส่งต่อโครงการดีๆ สู่ครอบครัว คนรอบข้าง และชุมชน รวมถึงความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก ที่ต้องช่วยกันเพิ่มพื้นที่สีเขียวในฟาร์มและโรงงาน และช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงทางอ้อมอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การผนึกกำลังอันเข้มแข็งของผู้บริหารและพนักงานทุกคน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ
นอกจากการเพิ่มพื้นที่เสีเขียวในสถานประกอบการแล้ว ซีพีเอฟสานต่อการดำเนินโครงการฟื้นฟูป่าต้นน้ำและป่าชาย เลน โดยมีเป้าหมายภายในปี 2573 เพิ่มพื้นที่สีเขียวรวม 20,000 ไร่ ผ่านการดำเนินโครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง ซึ่งตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบันดำเนินการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไปแล้วรวม 6,971 ไร่ และโครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน ดำเนินการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน 2,784 ไร่ ในพื้นที่ 3 จังหวัดยุทธศาสตร์ คือ จังหวัดระยอง สมุทรสาคร และตราด
