"ผมติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน" นายอาเหม็ดกล่าว พร้อมเสริมว่าแผงโซลาร์เซลล์จำนวนมากที่ใช้ในปากีสถานผลิตจากจีน
นอกจากการจัดหาแผงโซลาร์เซลล์แล้ว จีนยังช่วยเหลือปากีสถานในการใช้พลังงานแสงอาทิตย์และทรัพยากรน้ำที่อุดมสมบูรณ์ผ่านโครงการพลังงานสีเขียวหลายโครงการ
โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำคารอต (Karot Hydropower Plant) ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสะอาด 3.2 พันล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี จะช่วยประหยัดถ่านหินได้ประมาณ 1.4 ล้านตัน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 3.5 ล้านตันต่อปี จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ชาวปากีสถานของโครงการดังกล่าว
โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำคารอตเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของความพยายามของจีนในการส่งเสริมการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative หรือ BRI)
ปีนี้เป็นวันครบรอบ 10 ปีที่จีนได้นำเสนอข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง โดยตลอดทศวรรษที่ผ่านมา จีนไม่เพียงสร้างความก้าวหน้าในการเปลี่ยนผ่านด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศเท่านั้น แต่ยังสร้างความก้าวหน้าที่สำคัญในการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางอีกด้วย
"ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา จีนสามารถกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยต่อปีที่ระดับ 6% และมีการใช้พลังงานเฉลี่ยต่อปีเพิ่มขึ้น 3%" นายหวง หรุ่นฉิว (Huang Runqiu) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม กล่าวในการประชุมโต๊ะกลมว่าด้วยการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง และการประชุมสมัชชาใหญ่ของแนวร่วมการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนานาชาติภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
นายหวงเปิดเผยว่า จีนปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยจีดีพีลดลงประมาณ 35% ซึ่งเทียบเท่ากับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 3.7 พันล้านเมตริกตัน พร้อมเสริมว่าในปี 2565 กำลังการผลิตติดตั้งของไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในจีนสูงถึง 1.2 พันล้านกิโลวัตต์ แซงหน้าไฟฟ้าพลังงานถ่านหินได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
นอกเหนือจากการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนในประเทศแล้ว ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จีนยังแบ่งปันเทคโนโลยีขั้นสูงและดำเนินโครงการความร่วมมือด้านพลังงานสีเขียวที่สะอาด คาร์บอนต่ำ และมีคุณภาพร่วมกับประเทศอื่น ๆ อีกหลายโครงการ
รายงานสมุดปกขาวหัวข้อ "ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง: เสาหลักของประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกัน" ระบุว่า จีนอาศัยความเชี่ยวชาญด้านพลังงานหมุนเวียน การอนุรักษ์พลังงาน การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และการผลิตที่สะอาด ตลอดจนใช้เทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ และประสบการณ์ของตนเอง เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางอย่างแข็งขัน
ในประเทศเอธิโอเปียที่มีแหล่งพลังงานหมุนเวียนอุดมสมบูรณ์ ซึ่งรวมถึงพลังงานลมและพลังงานน้ำ คาดว่าจะผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 60,000 เมกะวัตต์ ภายใต้ความช่วยเหลือของจีนในโครงการต่าง ๆ เช่น ฟาร์มกังหันลมอดามา (Adama Wind Farm) ในเทือกเขาหินบนที่ราบสูง และโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเกนาเล-ดาวา 3 (Genale-Dawa III) ขนาด 254 เมกะวัตต์
นอกจากการใช้ทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนในท้องถิ่นแล้ว จีนยังให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในกระบวนการพัฒนาพลังงานอีกด้วย
ในการสร้างทางรถไฟขนาดมาตรฐานมอมบาซา-ไนโรบี (Mombasa-Nairobi Standard Gauge Railway) ซึ่งวิ่งผ่านเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าหลายเขต เช่น อุทยานแห่งชาติไนโรบีและอุทยานแห่งชาติซาโว ได้มีการใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในระหว่างการออกแบบและก่อสร้างทางรถไฟ
ตลอดทางรถไฟมีการสร้างทางเดินสำหรับสัตว์ป่าขนาดใหญ่ 14 แห่ง และสะพาน 79 แห่งที่มีความสูงกว่า 6.5 เมตร ช่วยให้สัตว์ขนาดใหญ่ เช่น ช้างและยีราฟ สามารถผ่านได้ง่าย นอกจากนั้นยังมีการติดตั้งรั้วกั้นสองข้างทางรถไฟเพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์กับรถไฟเจอกัน
ทั้งนี้ ความร่วมมือในการพัฒนาพลังงานสีเขียวและคาร์บอนต่ำไม่ได้จำกัดอยู่แค่ไม่กี่ประเทศเท่านั้น
รายงานสมุดปกข่าวระบุว่า จีนได้บรรลุข้อตกลงความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมกับกว่า 30 ประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงเปิดตัวโครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางกับ 31 ประเทศ และก่อตั้งแนวร่วมการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนานาชาติภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางร่วมกับพันธมิตรมากกว่า 150 ราย จากกว่า 40 ประเทศ
นอกจากนี้ จีนพร้อมที่จะทำงานร่วมกับประเทศอื่น ๆ เพื่อสร้างความร่วมมืออย่างใกล้ชิดและมีประสิทธิผลมากขึ้นภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เพื่อสร้างโลกที่เปิดกว้าง ครอบคลุม สะอาด และสวยงามต่อไป
https://news.cgtn.com/news/2023-10-12/How-China-contributes-to-building-a-green-Belt-and-Road--1nQ4RB6xsn6/index.html