กทม. รุกเข้มส่งเสริมความรู้เรื่องเพศศึกษาโรงเรียนในสังกัด หวังป้องกัน HIV - โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงมาตรการเชิงรุกในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ว่า กทม. ได้จัดระบบบริการสุขภาพทางเพศให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม เช่น ให้บริการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย การเปิดให้บริการคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย (BKK Pride Clinic) ทั่วกรุงเทพฯ การอำนวยความสะดวกการเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ รวมถึงการให้คำปรึกษาและตรวจรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ของสถานพยาบาลในสังกัดได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพปัจจุบันคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย (BKK Pride Clinic) มี 31 แห่งทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ โดยให้บริการตรวจรักษาเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพทั่วไป สุขภาพจิต ฮอร์โมนและการปรึกษาด้านศัลยกรรม และลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด

Wednesday 9 July 2025 16:03
กทม. รุกเข้มส่งเสริมความรู้เรื่องเพศศึกษาโรงเรียนในสังกัด หวังป้องกัน HIV - โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ขณะเดียวกันได้อำนวยความสะดวกการเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ โดยการสนับสนุนหน่วยบริการด้านสุขภาพได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักงานเขต โรงพยาบาลในสังกัด สถานบันเทิง สถานประกอบการ สถานศึกษา และองค์กรภาคประชาสังคมในการบริการจุดรับถุงยางอนามัยฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย และรณรงค์ให้ประชาชนสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งกับทุกคน ในกิจกรรมวัน "Voluntary Counseling and Testing Day" (VCT DAY) วันเอดส์โลก วันวาเลนไทน์ เป็นต้น โดยสามารถติดต่อขอเข้ารับบริการ Line OA @prepbangkok หรือสายด่วน 063-498-9508 พร้อมทั้งได้เพิ่มจุดกระจายถุงยางอนามัยในสถานศึกษาในสังกัด ศูนย์สุขภาพชุมชน เครือข่ายร้านยาคุณภาพในพื้นที่กรุงเทพฯ ภาคประชาสังคมสามารถขอรับได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. 69 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ตลอดจนจัดทำโครงการการบริการเชิงรุกสุขภาพดีในพื้นที่เป้าหมาย โดยจัดบริการตรวจคัดกรองสุขภาพ (x-ray HIV ซิฟิลิส ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน) ให้แก่กลุ่มพนักงานบริการในจุดรวมตัว 9 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ในช่วงเดือน พ.ค. - ก.ค. 68

นอกจากนี้ ยังได้กิจกรรมการส่งเสริมความรู้การประเมินความเสี่ยงการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเองให้กับกลุ่มเยาวชนโรงเรียนในสังกัด 109 แห่ง และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) จากศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. 69 แห่ง โดยเป็นแกนนำกระจายความรู้และแบบประเมินความเสี่ยงฯ รณรงค์ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มเกี่ยวกับวิธีป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่าง ๆ เนื่องในวันสำคัญ เช่น วาเลนไทน์ เอดส์โลก Pride month VCT day สร้างความเข้าใจลดการตีตราและเลือกปฏิบัติ พร้อมทั้งส่งเสริมความรู้เรื่องเพศศึกษาให้แก่เด็กนักเรียนโรงเรียนในสังกัดผ่านการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับช่วงวัยควบคู่กับการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการมีความรักอย่างสร้างสรรค์ การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย (SAFE SEX) และให้ความสำคัญกับการเข้าถึงบริการสุขภาพทางเพศที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ รวมทั้งการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร

นางสาวพิศมัย เรืองศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม. กล่าวว่า สนศ. ได้ดำเนินโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สนอ. จัดทำโครงการ/กิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยบูรณาการสอดแทรกความรู้ความเข้าใจ รวมถึงการรณรงค์ป้องกันและสร้างความตระหนักในเรื่องอื่น ๆ เช่น การแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร สุขภาพจิต เพศศึกษา เพศวิถีและความหลากหลายทางเพศ เป็นต้น พร้อมทั้งจัดซื้อผ้าอนามัยฟรี เพื่อสนับสนุนนักเรียนตามนโยบาย "นำร่องผ้าอนามัยฟรี" โดยให้โรงเรียนจัดอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่นักเรียนหญิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ เพื่อส่งเสริมสุขภาวะของนักเรียน สร้างความตระหนักและค่านิยมทางเพศศึกษาที่เหมาะสมให้กับนักเรียน เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการป้องกันการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร รวมถึงสร้างความตระหนักเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ

ที่ผ่านมาโรงเรียนในสังกัด กทม. ทั้ง 437 โรงเรียน ได้บูรณาการจัดการเรียนรู้ควบคู่กิจกรรมในเรื่องเพศศึกษา อนามัยเจริญพันธุ์ การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธุ์ ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา รวมถึงจัดกิจกรรมรณรงค์และให้ความรู้เรื่องการป้องกันการติดเชื้อ HIV โรคเอดส์ การยอมรับและเข้าใจผู้ติดเชื้อ HIV เนื่องในวันเอดส์โลก เป็นประจำทุกปี และรณรงค์เปิดเพลง "รักเมื่อพร้อม" ของชมรม TO BE NUMBER ONE ประจำโรงเรียนในกิจกรรมหน้าเสาธงเป็นประจำทุกวัน โดยมีจังหวะดนตรีสนุกสนาน สามารถออกแบบท่าเต้น กายบริหาร เป็นกิจกรรมเข้าจังหวะหน้าเสาธงได้ด้วย และมีเนื้อหาเตือนใจให้เด็กและเยาวชนทั้งเพศชายและหญิงเห็นคุณค่าในตนเอง ไม่ปล่อยตัวปล่อยใจไปตามอารมณ์ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจให้แก่เยาวชน เพื่อหล่อหลอมให้เด็กและเยาวชนมีทักษะชีวิตในการป้องกันตัวเองในเรื่องความปลอดภัยทางเพศ และเรื่องอื่น ๆ ในการดำเนินชีวิตประจำวัน และเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม

ทั้งนี้ กทม. ได้ร่วมเปิดโครงการพัฒนาแนวทางบูรณาการเรื่องการส่งเสริมสุขภาวะของเยาวชนหลากหลายทางเพศของโรงเรียนในสังกัด หรือโครงการลูกแก้ว ซึ่งเป็นโครงการที่จัดทำโดยมูลนิธิ M PLUS เพื่อส่งเสริมสุขภาวะอย่างรอบด้านโดยเฉพาะบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศและเยาวชน มีเป้าหมายลดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่และลดการเสียชีวิตจากเอดส์ รวมถึงจัดบริการตรวจเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) บริการยาป้องกันก่อนสัมผัสเชื้อเอชไอวี (PiEP) และส่งต่อยารักษาการต้านไวรัสในสันเดียวกับที่รู้ผลเอชไอวี โดยมีแนวทางการพัฒนากลไกแบบบูรณาการกับโรงเรียน หรือโครงการ To Be Number One ของโรงเรียน เพื่อเปิดพื้นที่ให้โรงเรียนที่ร่วมโครงการได้นำเสนอรูปแบบการส่งเสริมสุขภาวะของเยาวชนหลากหลายทางเพศ