ม.ธรรมศาสตร์ เดินหน้าเปลี่ยนโครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืน หนุน 30 "นวัตกรรม SDGs" พลิกอนาคตการรับมือภัยพิบัติ พลังงาน เมือง อาหาร และสิ่งแวดล้อม พร้อมปิด Pain Point หลากความเปราะบางของประเทศ

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ตอกย้ำบทบาท "มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน" เดินหน้าขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs) สู่การเปลี่ยนแปลงที่จับต้องผ่านการผสานนโยบายเชิงระบบกับการวิจัยและพัฒนาเพื่อสังคมอย่างแท้จริง พร้อมเปิดตัวนิทรรศการ "SDGs เพื่อประชาชน: นวัตกรรมเพื่อชีวิต - สร้างอนาคตที่ยั่งยืน" ที่จัดแสดงผลงานนวัตกรรมกว่า 30 ผลงาน จากคณาจารย์และนักวิจัยในหลากหลายสาขาวิชา ซึ่งสะท้อนความมุ่งมั่นของมธ. ในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทย เน้นครอบคลุมทั้งด้านภัยพิบัติ พลังงาน อาหาร เมือง และเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมุ่งหวังให้ทุกนวัตกรรมสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของประชาชน สอดคล้องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อของสหประชาชาติ

Monday 21 July 2025 16:45
ม.ธรรมศาสตร์ เดินหน้าเปลี่ยนโครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืน หนุน 30 "นวัตกรรม SDGs" พลิกอนาคตการรับมือภัยพิบัติ พลังงาน เมือง อาหาร และสิ่งแวดล้อม พร้อมปิด Pain Point หลากความเปราะบางของประเทศ

ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในช่วงเวลาที่ "SDGs" หรือเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน กลายเป็นวาระร่วมของนานาประเทศและองค์กรทั่วโลก ธรรมศาสตร์ได้ให้ความสำคัญและก้าวไปอีกขั้น โดยมุ่งเน้นการผลักดัน SDGs จากการเป็นเพียงแนวคิดสากล สู่การเป็น "กลไกสร้างการเปลี่ยนแปลง" ที่เกิดขึ้นจริงในระดับพื้นที่ ด้วยการนำผลงานวิจัยมาต่อยอดในระดับชุมชนและพาณิชย์ พร้อมเชื่อมโยงองค์ความรู้หลากหลายสาขา อาทิ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ สถาปัตยกรรมและการออกแบบ มาบูรณาการเพื่อพัฒนาผลงานวิจัยที่เป็นรูปธรรม ทั้งยังเปิดพื้นที่ให้นักวิจัย นักศึกษา และชุมชนร่วมกันทดลอง และต่อยอดผลงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดวัฏจักรของการเรียนรู้ที่เท่าทันและตอบสนองบริบทของสังคมไทยอย่างแท้จริง

"สังคมไทยกำลังเผชิญ pain point ร่วมระดับชาติหลายมิติ ทั้งภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงขึ้น ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่ลึกลงทุกปี และคุณภาพชีวิตที่ไม่เท่ากันของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุและผู้มีรายได้น้อย สะท้อนจากรายงานของสหประชาชาติที่ระบุว่าไทยยังมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูงที่สุดในกลุ่มอาเซียน และเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติต่อประชากรมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยกตัวอย่างข้อมูลในด้านของสิ่งแวดล้อม ธนาคารโลก (World Bank) ชี้ว่าไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 250 ล้านตัน CO? ต่อปี ขณะที่อัตราการบริโภคพลังงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 3-4% สวนทางกับความสามารถในการจัดการขยะและทรัพยากรอย่างยั่งยืน สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่ตัวเลขในรายงาน แต่คือสภาพชีวิตจริงของผู้คนที่ต้องเผชิญ และเป็นโจทย์ที่ SDGs ต้องตอบให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม"

ในช่วงครึ่งปีหลัง 2568 นี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs ด้วยนวัตกรรม ผ่านงานนิทรรศการ "SDGs เพื่อประชาชน: นวัตกรรมเพื่อชีวิต - สร้างอนาคตที่ยั่งยืน" ที่รวบรวมผลงานวิจัย เทคโนโลยี และแนวคิดสร้างสรรค์จากหลากหลายสาขาในมหาวิทยาลัยมากกว่า 30 ผลงานครอบคลุมทั้งด้านภัยพิบัติ พลังงาน อาหาร เมือง และเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยนิทรรศการนี้ แบ่งออกเป็น 5 โซนหลัก ประกอบด้วย

  • โซนความพร้อมรับมือภัยพิบัติ (Resilience & Disaster Preparedness Zone) อาทิ เครื่องเตือนภัยแผ่นดินไหว ระบบสื่อสารฉุกเฉิน เป็นต้น
  • โซนนวัตกรรมพลังงานสะอาดและโครงสร้างพื้นฐาน (Clean Energy & Infrastructure Innovation Zone) นำเสนอระบบ Solar Tracker คอนกรีตไร้ซีเมนต์ หุ่นยนต์ใต้น้ำ ฯลฯ
  • โซนเมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน (Sustainable Urban & Public Spaces Zone) รวมถึง AI ดูแลต้นไม้ พื้นที่ออกกำลังกายเพื่อผู้พิการ อาทิ Future Street ต้นแบบถนนแห่งอนาคต เป็นต้น
  • โซนสุขภาพและอาหารเพื่อชีวิตที่ดี (Health & Future Food Zone) อาทิ เครื่องออกกำลังกายผู้ป่วย อาหารฟังก์ชัน Microwave MedTech เป็นต้น
  • โซนเศรษฐกิจหมุนเวียนและนวัตกรรมเพื่อการผลิตที่ยั่งยืน (Circular Economy & Sustainable Production Zone) อาทิ บรรจุภัณฑ์ชีวภาพ เส้นใยเหลือใช้เพื่อสิ่งทอใหม่ ปุ๋ยหมุนเวียน เป็นต้น

ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หนึ่งในไฮไลต์สำคัญคือโซน "Resilience & Disaster Preparedness" ซึ่งนำเสนอเทคโนโลยีเพื่อการเตือนภัยและรับมือแผ่นดินไหว เช่น เครื่องจำลองแผ่นดินไหว และระบบสื่อสารฉุกเฉิน EmergencyTU ที่ประชาชนสามารถใช้ได้ในภาวะวิกฤติ สามารถส่งข้อมูลสำคัญและแจ้งเตือนผ่านโครงข่ายวิทยุพื้นฐานได้แม้ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ตอบโจทย์การเข้าถึงเทคโนโลยีในพื้นที่ห่างไกล ด้าน "Sustainable Urban & Public Spaces Zone" นำเสนอต้นแบบสวนสาธารณะเพื่อรองรับการออกกำลังกายสำหรับผู้พิการ 7 ประเภท ครอบคลุมความต้องการทั้งทางร่างกายและการรับรู้ และยังมี Future Street ต้นแบบถนนแห่งอนาคตที่ผสานข้อมูลการจราจร ความปลอดภัย และระบบสีเขียวเข้าด้วยกัน พร้อมเทคโนโลยีสื่อสารเชิงปฏิสัมพันธ์ (Interactive) เพื่อสร้างพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยและตอบสนองผู้ใช้หลากหลายกลุ่มในชุมชนเมือง

ในด้านสุขภาพและอาหาร โซน "Health & Future Food" นำเสนออาหารแห่งอนาคต เช่น ผักแผ่นอบกรอบ ซึ่งคงคุณค่าสารอาหารได้สูง มีอายุการเก็บรักษาที่ยาวนานมากขึ้น( shelf life) และเป็นต้นแบบการพัฒนา food innovation สำหรับผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพ พร้อมนำเสนอเครื่องออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ รวมถึงเทคโนโลยีด้านการแพทย์ที่ใช้เลเซอร์และไมโครเวฟในการวิเคราะห์และรักษาโรคร้ายแรง โดยทุกโซนถูกออกแบบในรูปแบบอินเทอร์แอคทีฟที่ผู้เข้าชมสามารถมีส่วนร่วมได้จริง โดยนิทรรศการ "SDGs เพื่อประชาชน: นวัตกรรมเพื่อชีวิต - สร้างอนาคตที่ยั่งยืน" เปิดกว้างให้ประชาชนทั่วไป นักเรียน นิสิต นักศึกษา และผู้สนใจ เข้าร่วมเรียนรู้ ทดลอง และมีส่วนร่วมกับนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตั้งแต่วันนี้ จนถึง 30 กันยายน 2568

"ธรรมศาสตร์มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมที่ไม่เพียงเป็นผลงานเชิงวิชาการ แต่ยังสามารถนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ สาธารณสุข และสวัสดิการชุมชนได้จริง โดยยึดหลักไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง "Leave No One Behind" ทุกผลงานจึงไม่ใช่เทคโนโลยีเพื่อคนบางกลุ่ม แต่ถูกออกแบบมาเพื่อคนทุกกลุ่มในสังคม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เกษตรกรรายย่อย และผู้มีรายได้น้อย"

นอกจากนี้ ภายในงานยังเปิดพื้นที่แนวคิดล้ำผ่านเวทีเสวนาจาก 3 นักวิจัยธรรมศาสตร์ จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ ผศ.ดร.อมรเทพ จิรศักดิ์จำรูญศรี อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนายั่งยืน พร้อมด้วยผศ.ดร.กฤติยา เขื่อนเพชร อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร และรศ. ดร.ธนิท เรืองรุ่งชัยกุล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกายภาพและสิ่งแวดล้อม ที่มาถ่ายทอดมุมมองและแรงบันดาลใจในการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม พร้อมเจาะลึกเบื้องหลังการพัฒนาและแนวทางนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้งานจริง โดยชูบทบาทของมหาวิทยาลัยในฐานะศูนย์กลางการบูรณาการศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs อย่างเป็นรูปธรรม