กรมอนามัย สนับสนุนทีม SEhRT ดูแลจัดการด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมในศูนย์พักพิงชั่วคราว และชุมชน ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในจังหวัดภาคเหนือ

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนทีม SEhRT ดูแลจัดการด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมในศูนย์พักพิงชั่วคราว สำหรับช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ พร้อมทั้งดูแลจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมในชุมชนที่ประสบภัยน้ำท่วม เน้นย้ำการสื่อสารให้ความรู้คำแนะนำการปฏิบัติตนแก่ประชาชนในช่วงประสบภัยน้ำท่วม

Thursday 24 July 2025 17:22
กรมอนามัย สนับสนุนทีม SEhRT ดูแลจัดการด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมในศูนย์พักพิงชั่วคราว และชุมชน ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในจังหวัดภาคเหนือ

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากรายงานสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในจังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากพายุวิภา ล่าสุดมีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมใน 4 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย น่าน พะเยา และลำปาง ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ตลอดจนสร้างเสียหายแก่บ้านเรือน พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง กรมอนามัย มีความห่วงใยสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมดังกล่าว จึงมอบหมายทีมปฏิบัติการอนามัยสิ่งแวดล้อม หรือทีม SEhRT ทุกระดับ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่อย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมในการดูแลจัดการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมในชุมชน และภายในศูนย์พักพิงชั่วคราวที่มีการจัดตั้งขึ้นในพื้นที่เพื่อสนับสนุนและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม อาทิ การปรับปรุงคุณภาพน้ำใช้เบื้องต้น การสำรวจ ประเมินการปนเปื้อนของเชื้อโรคในแหล่งอาหารและน้ำ การดูแลระบบสุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อมในศูนย์พักพิงชั่วคราวและชุมชน เพื่อลดความเสี่ยงโรคติดต่อหรือโรคระบาดต่าง ๆ ในช่วงประสบภัยน้ำท่วม

นายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้แต่ละจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วมได้เปิดศูนย์พักพิงชั่วคราวในหลายพื้นที่ จำนวน 389 แห่ง เพื่อรองรับผู้ประสบภัยที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยกรมอนามัยได้มอบหมายทีม SEhRT ศูนย์อนามัยในพื้นที่ประสบภัย ประสานภารกิจร่วมกับเครือข่ายในระดับพื้นที่ ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และหน่วยงานส่วนท้องถิ่น เตรียมพร้อมปฏิบัติการอนามัยสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม ดูแลจัดการด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมในศูนย์พักพิงชั่วคราวและชุมชน ทั้งนี้ กรมอนามัย ได้มีการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่จำเป็นให้กับศูนย์อนามัยในพื้นที่ประสบภัย อาทิ คลอรีนเม็ด ส้วมกระดาษ ชุด V-Clean สำหรับดูแลการจัดการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ชุด sanitation ดูแลสุขอนามัย ถุงดำ ยาช่วยเหลือผู้ประสบภัย และชุดทดสอบภาคสนามสำหรับการเฝ้าระวังการปนเปื้อนในอาหารและน้ำ การสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว พร้อมทั้งเร่งสื่อสาร สร้างการรับรู้ ให้คำแนะนำการในการมีพฤติกรรมอนามัยที่ดี ดูแลสุขภาพ และป้องกันความเสี่ยงที่มาจากภัยน้ำท่วมของตนเองและคนในครอบครัว

"ทั้งนี้ ในช่วงเวลานี้ระดับน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมผ่านช่องทางสื่อสารต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งดูแลสุขภาพตนเองและสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง คือ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ โดยหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ หรือลงในจุดที่น้ำท่วมสูง ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เจ็บป่วย และเสียชีวิต ดังนั้น ผู้ดูแลกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เด็กเล็กไม่ควรปล่อยให้เล่นใกล้บริเวณน้ำท่วม หากน้ำไหลหลาก น้ำท่วมเฉียบพลัน ไม่ควรเดินลุยน้ำ และขับรถฝ่าน้ำท่วม อาจถูกกระแสน้ำพัดพา จนจมน้ำและเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ควรระมัดระวังสัตว์มีพิษกัดต่อย ควรถอดปลั๊กไฟต่าง ๆ ภายในบ้านบริเวณที่จมน้ำ และตัดกระแสไฟฟ้าเฉพาะชั้นที่มีน้ำท่วมขัง เพื่อป้องกันไฟฟ้ารั่วซึมหรือลัดวงจร หากท่านใดพบผู้ประสบอุบัติเหตุให้ตั้งสติ เพื่อควบคุมสถานการณ์ ก่อนโทรแจ้งสายด่วน 1669 และนำส่งโรงพยาบาลทันที" รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

กรมอนามัย สนับสนุนทีม SEhRT ดูแลจัดการด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมในศูนย์พักพิงชั่วคราว และชุมชน ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในจังหวัดภาคเหนือ