นอกจากนี้ 'อุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย' ยังเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ของไทยสู่สายตาชาวต่างชาติ หากสำรวจในมุมของเศรษฐกิจ ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Information Center: CIC) โดย CEA ในปี 2564 พบว่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศไทย ในกลุ่มอุตสาหกรรมคอนเทนต์ ได้แก่ การกระจายเสียง ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ การพิมพ์ และซอฟต์แวร์ (เกมและแอนิเมชัน) มีมูลค่าสูงถึง 100,000 ล้านบาท ดังนั้นหากคอนเทนต์ของไทยได้รับการพัฒนาให้มีศักยภาพยิ่งขึ้น อาจมีแนวโน้มเป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่งที่เติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องได้
ตลอดจนช่วยสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อธุรกิจในภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในด้านการท่องเที่ยว อาหาร แฟชั่น ฯลฯ และด้วยศักยภาพของบุคลากรไทยที่สามารถรังสรรค์ผลงานที่เต็มไปด้วยความโดดเด่น ผสานความคิดสร้างสรรค์ และการนำเสนอคอนเทนต์ที่ตรงใจและหลากหลาย ยิ่งทำให้เชื่อมโยงความรู้สึกกับผู้บริโภคได้ตรงจุดมากขึ้น ส่งผลให้คอนเทนต์ไทยสามารถเรียกกระแสผู้ชมในประเทศให้เพิ่มขึ้น ตลอดจนได้รับความนิยมจากตลาดโลกและสามารถขยายฐานผู้ชมในต่างประเทศได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก
โปรเจ็กต์ "Content Lab 2024" ปีที่ 2 ครอบคลุมการผลักดันตั้งแต่บุคลากรสร้างสรรค์ 'ภาพยนตร์' 'ซีรีส์' 'แอนิเมชัน' สู่การเชื่อมต่อโอกาสการเจรจาทางธุรกิจในเชิงพาณิชย์
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ในฐานะองค์กรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย ได้ริเริ่มจัดทำโครงการ 'Content Lab' ขึ้นเป็นครั้งแรกขึ้นเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา เพื่อมุ่งยกระดับทักษะของนักผลิตคอนเทนต์ไทยให้มีศักยภาพในการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศเป้าหมายในระดับสากล ผ่านการอบรมเชิงลึก การบรรยาย และการปฏิบัติจริง รวมถึงมอบโอกาสให้ทีมผู้เข้าร่วมได้นำเสนอโครงการของตนเองกับนักลงทุน และเป็นการต่อยอดโอกาสทางธุรกิจต่อไปในอนาคต โดยหลังจากเปิดตัวโครงการ 'Content Lab' ได้รับเสียงตอบรับในเชิงบวกจากบุคลากรและกลุ่มธุรกิจในอุตสาหกรรมได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากพันธมิตรในอุตสาหกรรมคอนเทนต์ทั้งในและต่างประเทศ มีผู้เข้าร่วมโครงการที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาและดำเนินโครงการของตนเอง ตลอดจนมีทีมที่เข้าร่วมโครงการในกลุ่มภาพยนตร์และซีรีส์ (Film & Series) จำนวน 13 ทีม ได้มีโอกาสร่วมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) กับสตูดิโอ ค่ายหนัง ผู้ผลิตภาพยนตร์และซีรีส์ และสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มชั้นนำในระดับประเทศ และต่างประเทศกว่า 30 ราย
จากจุดเริ่มต้นที่แข็งแกร่งสู่เป้าหมายที่ใหญ่กว่าเดิม ในปีนี้ CEA จึงได้สานต่อความสำเร็จ จัดทำโครงการ 'Content Lab 2024' สร้างสรรค์คอนเทนต์ไทย ดันไกลสู่สากล ที่ขยายโครงการเพื่อพัฒนาทักษะนักสร้างสรรค์ในสเกลที่กว้างขึ้น ผ่าน Incubation Programs เพื่อพัฒนาหลักสูตรการบ่มเพาะให้เข้ากับความต้องการของอุตสาหกรรมคอนเทนต์มากขึ้น รวมทั้งการขยายหลักสูตรที่ลงลึกในแต่ละสาขา ประกอบด้วย โครงการย่อยบ่มเพาะ 4 โครงการและโครงการสร้างโอกาสทางธุรกิจ 1 โครงการ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ ดังนี้
- Content Lab: Newcomers โครงการพัฒนาบุคลากรคนทำหนังรุ่นใหม่ทั่วประเทศ ให้พร้อมสำหรับการผลิตคอนเทนต์ในการเข้าสู่อุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย ซึ่งโครงการจะคัดเลือกนักทำหนังและซีรีส์หน้าใหม่จากทั้ง 3 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคเหนือ โดยผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมกิจกรรมบ่มเพาะทั้งสิ้น 8 วัน พร้อมกับเมนเทอร์ที่ดูแลโปรเจ็กต์ในแต่ละภาค ก่อนจะนำเสนอผลงานในรอบ Final Pitch ต่อคณะกรรมการเพื่อรับทุนพัฒนา จำนวนภาคละ 5 รางวัล รางวัลละ 20,000 บาท ซึ่งปัจจุบันโครงการได้เดินทางมาถึงโปรเจ็กต์ภาคเหนือเป็นภาคสุดท้าย
- Content Lab: Mid-Career โครงการพัฒนาโปรเจ็กต์ภาพยนตร์และซีรีส์ สำหรับบุคลากรวิชาชีพระดับกลางในสายโปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ และนักเขียนบทให้มีทักษะและชั้นเชิงเพื่อตอบรับกับเทรนด์ตลาด โดยปัจจุบันโครงการได้มีการคัดเลือกเสร็จไปเป็นที่เรียบร้อย ซึ่ง 10 ทีมสุดท้ายที่ได้รับเลือกจะมีโอกาสได้นำเสนอ Pitch Package และ Video Pilot กับนักลงทุนเพื่อการผลิตเชิงพาณิชย์ ในกิจกรรม Content Project Market ที่มีกำหนดจัดขึ้นในเดือนตุลาคมนี้
- Content Lab: Animation โครงการพัฒนาโปรเจ็กต์เฉพาะด้านแอนิเมชันที่ CEA ร่วมมือกับสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชันและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย (TACGA) โดยผู้ที่ผ่านการอบรมจำนวน 10 ทีม จะได้รับประกาศนียบัตร พร้อมทุนสำหรับการพัฒนา Pitch Deck จำนวน 100,000 บาท พร้อมได้รับสิทธิ์ในการนำเสนอโปรเจ็กต์กับนักลงทุนในงาน Content Project Market ในเดือนตุลาคม 2567 และทุนสนับสนุนค่าเดินทางเพื่อสร้างเครือข่ายและนำเสนอผลงานกับนักลงทุนในตลาดคอนเทนต์ต่างประเทศช่วงเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน 2567 เช่น Kre8tif ที่มาเลเซีย, Taiwan Creative Content Fest (TCCF) และ Asian Animation Summit (AAS) ที่ไต้หวัน ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีโอกาสชิงทุนเพิ่มเติมสำหรับการพัฒนาโปรเจ็กต์ Pilot Animation รางวัลละ 125,000 บาท จำนวน 3 ทุนอีกด้วย
- Content Lab: Advanced Scriptwriting โครงการพัฒนาทักษะการเขียนบทสำหรับมืออาชีพ โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทั้งจากในไทยและต่างประเทศ ล่าสุดได้ประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือกไปเป็นที่เรียบร้อย โดยขั้นต่อมาผู้เข้ารอบจะได้พบนักเขียนบทระดับมืออาชีพ เช่น คุณ Kim Hyomin นักเขียนบทคุณภาพ ที่มาพร้อมประสบการณ์สอนเขียนบทในวงการภาพยนตร์และซีรีส์ของเกาหลีใต้ และคุณ Choi Ran นักเขียนบทสายสืบสวนสอบสวน ที่จะมาร่วมบอกเล่าประสบการณ์ พร้อมเรื่องราวแรงบันดาลใจ ตลอดจนเทคนิค และเคล็ดลับในการสร้างตัวละครที่น่าจดจำ ต่อด้วยคลาสเรียนพิเศษเพื่อเพิ่มทักษะการจัดทำ Pitch Deck การนำเสนอผลงาน ตลอดจนการพัฒนาบทให้ตอบโจทย์ในเชิงพาณิชย์และเหมาะสมต่อการเจรจาททางธุรกิจ และคลาสเรียนสุดท้ายกับมาสเตอร์คลาสที่เปิดโอกาสให้ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และเทคนิคจากผู้เชี่ยวชาญ ก่อนจะนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการ เพื่อคัดเลือก 20 ผลงานที่จะได้เข้าร่วมใน Content Project Market เป็นลำดับต่อไป
- และโครงการสร้างโอกาสทางธุรกิจ Content Project Market โครงการที่เป็นเหมือนตลาดซื้อขายคอนเทนต์ของไทยครั้งใหญ่ ที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมโครงการ Content Lab: Mid-Career, Content Lab: Animation และ Content Lab: Advanced Scriptwriting รวมทั้งนักสร้างสรรค์ในสายงานจากภายนอก ได้นำเสนอโครงการต่อนักลงทุนและภาคธุรกิจ โดย 20 โปรเจ็กต์ภาพยนตร์ ซีรีส์ และแอนิเมชันที่มีศักยภาพในการผลิตเชิงพาณิชย์และผ่านการคัดเลือกจะได้ โอกาสในการร่วมเจรจาธุรกิจและนำเสนอผลงานกับนักลงทุนตัวจริงในอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศกว่า 50 ราย ในงาน Content Project Market 2024 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 24-25 ตุลาคม 2567 ณ True Digital Park (East) ชั้น 6
ดร. ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า โครงการ Content Lab 2024 ในปีนี้ ได้ขยายขอบเขตการพัฒนาทักษะนักสร้างสรรค์ให้กว้างขึ้น เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซีรีส์ และแอนิเมชันของไทย ตลอดจนเปิดโอกาสให้นักสร้างสรรค์ไทยได้แสดงความสามารถในระดับนานาชาติและร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างรายได้อย่างยั่งยืน พร้อมกันนี้เชื่อมั่นว่า Content Lab จะเป็นโครงการต้นแบบในการพัฒนานักสร้างสรรค์ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และซีรีส์ ได้แก่ โปรดิวเซอร์ นักเขียนบท และผู้กำกับ ให้มีทักษะและความรู้เพื่อตอบโจทย์และสามารถแข่งขันได้ในตลาดสากล ตลอดจนสร้างเครือข่ายผู้ผลิตคอนเทนต์ไทยให้เติบโตในระดับโลกต่อไป
สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ Content Lab 2024 ได้ที่ เฟซบุ๊กแฟนเพจ Content Lab รวมถึงกิจกรรมอื่น ๆ ของ CEA ได้ที่เว็บไซต์ www.cea.or.th
ที่มา: เจซีแอนด์โค คอมมิวนิเคชั่นส์